
ในวันที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคน สิ่งอำนวยความสะดวกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและง่ายที่จะเข้าถึง ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่าหนึ่งในสิ่งอำนวยความสะดวกที่เราทุกคนให้ความสำคัญมากในยุคนี้คือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งอุปกรณ์พกพาชิ้นนี้สามารถช่วยทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งการติดต่อสื่อสาร การส่งข้อความ และการตอบสนองความต้องการผ่านสื่อชนิดต่าง ๆ นั้นเราสามารถทำได้ในทันที จนในบางครั้งผู้ปกครองอาจมีความคิดที่ว่าเทคโนโลยีชิ้นนี้สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยได้ เพราะมีสื่อที่สร้างขึ้นสำหรับเด็กให้เลือกใช้อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน เพลงสำหรับเด็ก การเรียนรู้ตัวเลขตัวอักษร แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสื่อชิ้นนั้นสามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กได้จริง
การศึกษาในปัจจุบันพบว่ามีพฤติกรรมการใช้หน้าจอในเด็กที่มีอายุน้อยมากขึ้น ซึ่งมีการรายงานที่แสดงให้เห็นว่าการดูจอนั้นส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก เกิดจากการที่เด็กขาดโอกาสในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับวัย ไม่ได้ทำการเคลื่อนไหวสำรวจเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตามวัย ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าการเรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวและการบูรณาการประสาทรับความรู้สึกนั้นมีความสำคัญกับเด็กในช่วง 0-2 ปีเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่งผลต่อการพัฒนาทักษะด้านการรู้คิดของเด็กโดยตรง ในทางเดียวกันกับพัฒนาการทางด้านภาษาและสังคม เมื่อเด็กใช้เวลาอยู่กับจอมากขึ้น ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ น้อยลง ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ด้านการปรับตัวและทักษะการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกไม่สามารถพัฒนาได้เท่าที่ควร ส่งผลต่อความเข้าใจและการแสดงออกทางภาษาและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า พฤติกรรมการใช้หน้าจอมีความสัมพันธ์กับทักษะด้านความคิดเชิงบริหารขั้นสูงของสมอง (Executive function: EF) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการใช้ควบคุมกำกับตนเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากผลการศึกษาที่กล่าวถึงในข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองในยุคเทคโนโลยีควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้หน้าจอที่เกี่ยวข้องพัฒนาการของเด็ก เพื่อให้เกิดการส่งเสริมที่ถูกต้องและเหมาะสมค่ะ
กุญแจสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก คือ “เวลา” ที่ผู้ปกครองมีให้ค่ะ เป็นสิ่งที่เด็กต้องการมากกว่าสิ่งใด เด็กต้องการเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจากผู้ปกครอง ดังนั้นการสื่อสารที่เกิดขึ้นควรอยู่ในรูปแบบของการสื่อสารแบบสองทางค่ะ กล่าวคือต้องเป็นการสื่อสารผ่านคนจริง ๆ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง ของผู้ปกครองเมื่อเกิดอารมณ์ต่าง ๆ (การเข้าใจอวัจนะภาษา) ซึ่งเป็นสิ่งที่หน้าจอไม่สามารถทำได้ค่ะ ดังนั้นการกระตุ้นให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ ได้ตอบโต้ ได้เห็นการแสดงออกทางอารมณ์ต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กค่ะ เมื่อเด็กตอบสนองทางอารมณ์ได้ถูกต้องก็จะเกิดการสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนได้ดี เมื่อสร้างสัมพันธภาพได้ดีก็จะมีเพื่อน เมื่อมีเพื่อนก็จะมีความสุข เมื่อมีความสุขก็จะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมไปถึงความกล้าที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้านค่ะ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วผู้ปกครองอาจจะคิดว่า “การใช้หน้าจอมีแต่ข้อเสียจริงหรือ ? หรือเราสามารถใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมพัฒนาการได้อย่างไรบ้าง ?” อย่างที่ทราบกันดีค่ะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นควรจะอยู่ในขอบเขตที่พอดี เทคโนโลยีก็เช่นกันค่ะ หากเราใช้ในทิศทางที่เหมาะสมเทคโนโลยีอาจเป็นประโยชน์ได้ค่ะ เรามาดูกันค่ะว่าผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หน้าจอของเด็กในแต่ละช่วงวัยอย่างไรบ้าง
- ช่วงแรกเกิดจนถึง 2 ปีแรกของชีวิต
ในช่วงนี้ยังไม่แนะนำให้มีการใช้หน้าจอค่ะ ในวัยนี้การกระตุ้นให้เกิดการเล่นผ่านการเคลื่อนไหวและการกระตุ้นการบูรณาการประสาทรับความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ของเด็ก เนื่องจากโครงสร้างเครือข่ายประสาทของเด็กจะมีการพัฒนาการการเชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต จึงยังไม่แนะนำให้มีการดูจอในช่วงวัยนี้ เนื่องจากพัฒนาการทางด้านภาษาและสังคมจะเกิดขึ้นได้ดีขึ้นเมื่อเด็กมีการเรียนรู้การตอบสนอง การตอบโต้ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงดู รวมทั้งการอ่านหนังสือหรือการร้องเพลงด้วยเช่นกัน
- ช่วงอายุ 3-5 ปี
ช่วงวัยนี้เด็กเริ่มมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น ซึ่งการเรียนรู้คำศัพท์จากการใช้หน้าจอนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ควรแน่ใจว่าระหว่างที่มีการใช้หน้าจอเด็กอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ปกครองหรือไม่ เนื่องจากการศึกษาได้ให้คำแนะนำว่าควรมีการกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารขึ้นในระหว่างที่เด็กดูหน้าจอ โดยหากปล่อยให้เด็กดูสื่อทางหน้าจอโดยลำพังไม่มีการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการสื่อสารทางเดียว ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอตามลำพังและควรกำกับเวลาการใช้หน้าจอไม่ให้เกิน 1 ชั่วโมงต่อวันอีกด้วยค่ะ
- ช่วงอายุ 5 ปีขึ้นไป
ในช่วงอายุ 5 ปีขึ้นไประยะเวลาในการดูจอที่แนะนำคือ ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน (ไม่รวมระยะเวลาในการทำการบ้าน) โดยควรมีการควบคุมสื่อที่เด็กดูให้มีความเหมาะสมกับช่วงวัย การศึกษาได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกประเภทสื่อเอาไว้ว่า สื่อที่มีการให้เด็กร่วมมีปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดยได้มีการยกตัวอย่างสื่อเช่น Dora the Explorer แต่อย่างไรก็ตามการควบคุมกติกาเวลาในการใช้หน้าจอเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะด้านความคิดเชิงบริหารขั้นสูงของสมอง (EF) ในการควบคุมกำกับตนเองให้ทำตามหน้าที่ของตนเอง เช่น การทำการบ้านให้เสร็จก่อนพักผ่อนดูการ์ตูน 10-20 นาที การส่งเสริมวินัยเชิงบวกนี้จะช่วยทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่จะจัดการเวลาของตนเอง รู้หน้าที่ตนเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับประเด็นที่น่าสนใจในวันนี้ ทางก้านใบ คลินิกพัฒนาการเด็กลพบุรีขอขอบคุณทุกท่านที่เสียสละเวลาอันมีค่าเพื่ออ่านบทความนี้และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยทำให้ผู้ปกครองเกิดความเข้าใจและสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการลูก ๆ ของพวกเราให้สมวัยต่อไปค่ะ
ก้านใบ คลินิกพัฒนาการเด็ก ลพบุรี
ให้บริการประเมิน ส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน
ส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน ทักษะEF
โทร 097-9378319