
ลองฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกกันแล้วแต่ทำไมลูกถึงยังเขียนหนังสือไม่ได้กันนะ? ทำไมลูกเขียนยังไม่ทันเสร็จก็ลุกออกจากกิจกรรมแล้วล่ะ? ทำไมฝึกจับดินสอยังไงลูกก็ทำตามไม่ได้? หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเขียนของลูกว่าทำไมลูกถึงยังเขียนไม่ได้ และควรแก้ไขอย่างไร วันนี้ก้านใบ คลินิกพัฒนาการเด็กลพบุรี จึงมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะสำคัญที่มีผลต่อการเขียนมาฝากค่ะ โดยการที่เด็กจะเขียนได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านนอกเหนือจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบถึงทักษะที่จำเป็นต่อการเขียนแล้ว จะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับปัญหาที่พบเจอกับลูกได้ค่ะ หากพร้อมแล้วมาเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ไปพร้อมกันนะคะ
1. การจัดท่าทางและการควบคุมรยางค์ส่วนต้น (Posture and Proximal control)
การทรงท่าเป็นความสามารถในการจัดระเบียบร่างกายให้อยู่ในระนาบที่เหมาะสม และรักษาสมดุลของร่างกายเพื่อให้เกิดความมั่นคงขณะนั่งและเคลื่อนไหว ในส่วนของการควบคุมระยางค์ส่วนต้นเป็นความสามารถในการควบคุมการทำงานของแขนและไหล่ให้มั่นคงอยู่ในตำแหน่งทิศทางเหมาะสม เพื่อให้ข้อมือ นิ้วมือทำการหยิบจับหรือเขียนได้ดี ดังนั้น หากเด็กมีข้อต่อหัวไหล่หรือกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรงก็จะส่งผลต่อการเขียนได้ ทำให้เด็กนั่งได้ไม่นาน มีการลุกเดินบ่อย หรือล้าง่าย สามารถส่งเสริมได้ผ่านกิจกรรมโหนเชือกหรือบาร์ กิจกรรมวาดรูปบนทราย กิจกรรมเขียนกระดานด้วยแปรงทาสี และกิจกรรมสแตมป์หมึกบนผนัง เป็นต้น
2.การควบคุมรยางค์ส่วนปลาย (Distal Control)
การควบคุมรยางค์ส่วนปลายเป็นความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง รวมถึงการสร้างความมั่นคงแก่ส่วนโค้งของฝ่ามือ เพื่อให้เอื้อต่อการกำวัตถุขนาดต่าง ๆ สามารถส่งเสริมได้ผ่านกิจกรรมการใช้ขวดสเปรย์ในการพ่นสี การใช้หลอดหยด กิจกรรมดีดลูกแก้ว การเล่นของเล่นไขลาน เป็นต้น
3. การหยิบจับในรูปแบบต่าง ๆ (Prehension Patterns)
การหยิบจับในรูปแบบต่าง ๆ เป็นความสามารถในการใช้นิ้วมือในการหยิบจับวัตถุเข้ามาอยู่ในมือหรือนิ้วมือ สามารถส่งเสริมได้ผ่านกิจกรรมแยกชนิดของผักและผลไม้ การใช้นิ้วมือหยิบลูกปัดใส่ขวดและปรับระดับความยากขึ้นเป็นการใช้ที่คีบในการคีบลูกปัด และใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ ที่มีที่บ้านในการเล่นบทบาทสมมติ เป็นต้น
4. การเคลื่อนย้ายวัตถุภายในมือ (In-hand Manipulation)
การเคลื่อนย้ายวัตถุภายในมือเป็นความสามารถในการจัดการวัตถุภายในมือ เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเคลื่อนไหวดินสอภายในมือขณะการเขียน เนื่องจากการเคลื่อนไหวดินสอไปบนกระดาษต้องอาศัยความสามารถจำแนกการเคลื่อนไหวของนิ้วมือแต่ละนิ้วร่วมกับการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือไปด้วย สามารถส่งเสริมได้ผ่านกิจกรรมหยอดเหรียญใส่กระปุก กิจกรรมหมุนลูกเต๋าที่มี 6 ด้าน กิจกรรม Peg board และการใช้ดินสอสีที่มีปลายสองด้าน เป็นต้น
5. การข้ามแนวกลางลำตัวและการใช้มือทั้งสองข้างร่วมกัน (Crossing the Body’s Midline & Bilateral Hand Use)
ทักษะความสามารถในการข้ามแนวกลางลำตัวจะพัฒนาขึ้นหลังจากการทำกิจกรรมที่ใช้มือทั้งสองข้างร่วมกัน ซึ่งการข้ามแนวกลางลำตัวเป็นพัฒนาการขั้นพื้นฐานของสมองที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองทั้งสองซีกขณะที่มีการเคลื่อนไหวข้ามแนวกลางลำตัว จึงเป็นทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้นก่อนเพื่อนำไปสู่การประสานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ความถนัดของมือ รวมถึงทักษะการเคลื่อนไหวและความรู้ความเข้าใจในด้านอื่น ๆ สามารถส่งเสริมได้ผ่านกิจกรรมการโยน รับ กลิ้ง หรือเดาะบอลด้วยมือทั้งสองข้าง กิจกรรมปั้นดิน ปั้นแป้งโดว์ กิจกรรมต่อเลโก้ และการหนีบบัตรภาพด้วยไม้หนีบ เป็นต้น
6. การตระหนักรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อ (Kinesthetic Awareness)
การตระหนักรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อเป็นการตระหนักรู้การเคลื่อนไหวผ่านการรับความรู้สึกจากเอ็นกล้ามเนื้อและข้อต่อ เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการปรับหรือจัดตำแหน่งส่วนต่าง ๆ และท่าทางของร่างกาย รวมถึงการกะและออกแรงได้อย่างเหมาะสมกับอุปกรณ์หรือกิจกรรม รวมถึงเป็นพื้นฐานในการวางแผนการเคลื่อนไหว สามารถส่งเสริมได้ผ่านกิจกรรมการถือถุงน้ำหนักซึ่งมีขนาดและน้ำหนักต่างกัน กิจกรรมใช้นิ้วลากตามเส้นประแล้วใช้ดินสอหรือสีเขียนตามเส้นประอีกครั้ง กิจกรรมปั้นตัวอักษร และกิจกรรมขดลวดดอกไม้ไหวให้เป็นตัวอักษร เป็นต้น
7. การวางแผนการเคลื่อนไหว (Motor Planning)
การวางแผนการเคลื่อนไหวมีความสำคัญต่อความสามารถของเด็กในการวางแผน เรียงลำดับ และเขียนตัวอักษรที่ต้องการ ซึ่งการเขียนในแต่ละครั้งต้องการความสามารถในการวางแผนการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง สามารถส่งเสริมได้ผ่านกิจกรรมการละเล่นประกอบเพลง (ตบแปะ, แมงมุมขยุ้มหลังคา, จ้ำจี้มะเขือเปราะ) เกมตึกถล่ม กิจกรรมพับกระดาษตามแบบ และการเล่นเครื่องดนตรี เป็นต้น
8. การรับรู้ทางสายตาและการบูรณาการทางสายตาร่วมกับการเคลื่อนไหว (Visual Perception and Visual Motor Integration)
การรับรู้ทางสายตาเป็นกระบวนการรับและแปลผลและรู้ความหมายของสิ่งที่เห็น มีความสำคัญต่อการอ่านและการเขียน ในส่วนของการบูรณาการทางสายตาร่วมกับการเคลื่อนไหวเป็นการบูรณาการทักษะการรับรู้ทางสายตาร่วมกับการเคลื่อนไหวในขณะเดียวกัน มีความสำคัญต่อการคัดลอกตัวอักษรและตัวเลขของเด็ก ส่งผลให้การรับรู้ทางสายตาและการบูรณาการทางสายตาร่วมกับการเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างมากสำหรับกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานการเขียน สามารถส่งเสริมได้ผ่านกิจกรรมการตัดกระดาษเป็นรูปทรงต่าง ๆ โดยเริ่มจากรูปทรงพื้นฐานที่มีขนาดใหญ่ การเล่นต่อจิ๊กซอว์ เกมหาของในภาพ และกิจกรรมขว้างรับบอลในทิศทางต่าง ๆ เป็นต้น
9. ความรู้ความเข้าใจ (Cognition)
ทักษะความรู้ความเข้าใจก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญต่อการเรียนหนังสือ การฝึกเขียน หรือการอ่าน ซึ่งเป็นการอาศัยการทำงานของสมองร่วมกันหลายด้าน เช่น การจัดหมวดหมู่ การมีสมาธิ การคงความสนใจ รวมถึงทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร (EF) เป็นความจำในการเก็บข้อมูลเพื่อดึงมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และการควบคุมตนเองให้ทำงานให้เสร็จทันในเวลา เป็นต้น
10. สภาวะด้านอารมณ์และจิตใจ (Psychosocial)
นอกจากทักษะที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการฝึกเขียนหนังสือของลูก คือสภาวะด้านอารมณ์และจิตใจ แรงจูงใจในการเขียนก็เป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อความอยากเขียนของเด็ก ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามเข้าใจสาเหตุที่เป็นปัญหาของลูกและช่วยกันแก้ไขปัญหาไปทีละขั้น รวมถึงให้กำลังใจแก่ลูกเสมอ เพื่อเป็นการส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกในด้านการเขียนให้แก่ลูก
พวกเราก้านใบ คลินิกพัฒนาการเด็กลพบุรี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความเกี่ยวกับทักษะที่สำคัญต่อการเขียนของเด็ก จะช่วยให้ผู้ปกครองหรือผู้ที่มีความสนใจทุกท่านเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการเขียนของเด็ก รวมถึงวิธีการส่งเสริมทักษะในแต่ละด้าน เพื่อที่จะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบุตรหลานของท่านให้มีพัฒนาการที่สมวัยอย่างรอบด้านค่ะ

ก้านใบ คลินิกพัฒนาการเด็ก ลพบุรี
ให้บริการประเมิน ส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน
ส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน ทักษะEF
โทร 097-9378319
