สมาธิสั้น คำนี้ได้ยินกันบ่อยมากๆใช่ไหมคะ?
แต่มีความเข้าใจบางอย่างที่ครูได้ยินมา แล้วเป็นเรื่องผิดๆเกี่ยวกับสมาธิสั้น
วันนี้เลยอยากมาแชร์ให้ฟังกันค่ะ ว่าแท้จริงแล้ว มีความเข้าใจอะไรที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง
สมาธิสั้น ไม่เท่ากับพูดช้า


หลายท่านอาจจะเข้าใจผิดว่าโรคสมาธิสั้น
ส่งผลให้เด็กพูดช้า ยังไม่พูด ไม่สื่อสาร ไม่มองหน้าสบตา
ซึ่งนับเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ
เพราะโรคสมาธิสั้นไม่ส่งผลทางด้านการพูด
แต่เกี่ยวกับอาการขาดสมาธิ ภาวะอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น
แต่ในเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าด้านการพูด
อาจมีโรคสมาธิสั้นร่วมอยู่ด้วย
เลยทำให้เข้าใจผิดกันไปว่าเป็นเพราะสมาธิสั้นค่ะ
สมาธิสั้น ไม่เท่ากับไม่มีวันหาย


ความจริงแล้วเด็กสมาธิสั้นถึง 1/3 เลยค่ะ
ที่สามารถหายจากโรคได้
หากได้รับการรักษาและดูแลอย่างเหมาะสม
จะสามารถเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างดี
และเด็กสมาธิสั้นอีก 1/3 มีอาการที่ดีขึ้นได้
เมื่อโตเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่
มีเพียง 1/3 เท่านั้นที่แม้โตเป็นผู้ใหญ่
ก็ยังมีอาการของสมาธิสั้นรบกวนการดำรงชีวิตอยู่
ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในสังคม
ดังนั้นการที่เด็กสมาธิสั้นได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นการพบแพทย์และทีมสหวิชาชีพ
รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ให้เวลาคุณภาพกับลูกอย่างเต็มที่
จะช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
สมาธิสั้น ไม่เท่ากับไม่เก่ง


เด็กสมาธิสั้นไม่ใช่เด็กที่ไม่เก่งนะคะ
ส่วนมากมีระดับสติปัญญาที่เทียบเท่ากับเด็กทั่วไปค่ะ
และบางคนมีความสามารถเฉพาะตัว เก่งเฉพาะด้านอีกด้วย
บางครั้งที่เห็นเด็กสมาธิสั้นทำไม่ได้ในเรื่องที่เด็กคนอื่นทำได้
อาจเป็นเพราะเขาไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้นาน
แต่ถ้าเราส่งเสริมอย่างถูกวิธี ทำให้เด็กนิ่งขึ้น มีสมาธิมากขึ้น
เขาอาจจะทำได้อย่างดีเลยค่ะ
ที่สำคัญสำหรับครู
ไม่มีเด็กคนไหนในโลกนี้ที่ไม่เก่งค่ะ
ทุกคนมีความเก่งในตัวเอง เพียงแตกต่างกันแค่นั้นเอง
ความเก่งไม่ได้วัดกันที่เกรดเฉลี่ยหรือการเรียนเท่านั้นนะคะ
ยังมีสิ่งอื่นบนโลกอีกมากมาย เช่น ร้องเพลงเก่ง
เห็นใจคนอื่นปลอบคนอื่นเก่ง
ว่ายน้ำเก่ง วาดรูปเก่ง ทำอาหารเก่งและอีกมากมายค่ะ
สมาธิสั้น ไม่เท่ากับเรียนไม่ได้


โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD)
โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคบกพร่องทางสติปัญญา (ID)
เด็กสมาธิสั้นสามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไปค่ะ
สามารถอ่าน เขียน คิดคำนวน สอบตามพัฒนาการได้
บางคนเก่งมากจนตอบเร็ว ทำการบ้านเร็วมากกว่าเพื่อนก็มีค่ะ
แต่สิ่งที่ต้องฝึกและเน้นย้ำคือการส่งเสริมช่วงสมาธิ
การส่งเสริมทักษะ EF และการกำกับควบคุมตนเอง
ให้เด็กสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข ทำการบ้านและงานได้จนเสร็จ
ควบคุมตนเองให้นั่งเรียนร่วมกับเพื่อนได้อย่างเหมาะสม
สมาธิสั้น ไม่เท่ากับดื้อต่อต้าน


สมาธิสั้นเป็นโรคที่มีปัญหาด้านการขาดสมาธิ
มีภาวะซน อยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น
ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัยเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของสมอง
และส่งผลกระทบต่อ EF ในหลายด้านได้
เช่น การยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์
แต่สามารถส่งเสริมให้ดีขึ้นได้ค่ะ
ส่วนโรคดื้อต่อต้าน (ODD)
มีปัญหาด้านอารมณ์ที่รุนแรง เปลี่ยนแปลงง่าย
โกรธ โมโหและระเบิดอารมณ์อย่างรุนแรง
มีพฤติกรรมต่อต้านพ่อแม่และครู ไม่ทำตามคำสั่ง
มีเจตนาร้าย เช่น ก่อกวน กลั่นแกล้ง ด่าทอ
และอาจมีโรคสมาธิสั้นร่วมอยู่ได้ในบางคนค่ะ
ก้านใบ คลินิกพัฒนาการเด็ก ลพบุรี
ให้บริการประเมิน ส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน
ส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน ทักษะEF
โทร 097-9378319