Skip to content Skip to footer

การเขียนตามวัย ไม่รีบร้อนเกินพัฒนาการ!

การที่เด็ก ๆ จะสามารถเขียนหนังสือ พยัญชนะ หรือสระต่าง ๆ ได้ดีในอนาคตนั้น เด็กจะต้องมีความสามารถในการเขียนขั้นพื้นฐานก่อน เช่น การขีด การเขียนรูปทรงต่าง ๆ รวมถึงมีการจับดินสอที่มีความเหมาะสมตามช่วงวัยค่ะ วันนี้พวกเราก้านใบ คลินิกพัฒนาการเด็กลพบุรี จึงอยากจะมากล่าวถึงทักษะการเขียนเบื้องต้น (Pre-writing skills) สำหรับเด็ก ๆ และมาเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันค่ะว่าการจับดินสอและต้องมีการขีดเขียนแบบใดจึงจะเหมาะสมกับช่วงวัยของลูก

ทำไมทักษะการเขียนเบื้องต้น (Pre-writing skills) จึงมีความสำคัญกับเด็ก ?

          ทักษะการเขียนเบื้องต้น (Pre-writing skills) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กในการพัฒนาความสามารถในการจับดินสอและขยับปรับตำแหน่งดินสอในมือขณะเขียนได้อย่างคล่องแคล่วเหมาะสม ส่งผลให้สามารถสร้างงานเขียนที่อ่านง่ายและมีประสิทธิภาพ แต่หากทักษะในด้านนี้ไม่ได้ถูกพัฒนาให้มีความสมวัย อาจนำไปสู่การทำให้เด็กมีความคับข้องใจและต่อต้านการเขียน เนื่องจากเด็กมีความยากลำบากในการขีดเขียน รวมถึงสามารถส่งผลกระทบทำให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองลดลงและมีทักษะในการเรียนลดลงอีกด้วยค่ะ

พัฒนาการการจับดินสอตามช่วงวัยและรูปทรงพื้นฐานในการเขียน

1. Palmar-supinate grasp (1-2 ปี) การจับดินสอด้วยการกํามือ ปลายแหลมของดินสออยู่ทางด้านนิ้วก้อย ข้อมืออยู่ในท่างอและหงายขึ้นเล็กน้อยจากระดับปกติ ใช้การเคลื่อนไหวของส่วนแขนทั้งหมดขณะเขียน

รูปทรงพื้นฐานในการเขียน: ขีดเขียนขยุกขยิกแบบไม่มีจุดมุ่งหมายมีลักษณะขีดเขี่ยไปมา (scribbles)

อุปกรณ์การเขียนที่เหมาะสม: “สีเทียนด้ามอ้วน” ช่วยให้จับถนัดมือและทนต่อแรงกดได้ดีกว่าดินสอหรือปากกาด้ามผอม เนื่องจากในช่วงวัยนี้เด็ก ๆ ยังพัฒนากล้ามเนื้อมือได้ไม่เต็มที่ และยังควบคุมน้ำหนักมือได้ไม่ดีค่ะ ดังนั้น เด็กวัยนี้จึงจับสีเทียนด้วยท่ากำมือเป็นท่าแรกเริ่ม เพราะจะควบคุมการเขียนได้ง่าย ซึ่งการจับแบบนี้จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ความมั่นคงของข้อมือ ความโค้งของมือ และการควบคุมกล้ามเนื้อมือแบบแยกส่วนค่ะ

2. Digital-pronate grasp (2-3 ปี) การจับดินสอด้วยฝ่ามือ นิวชี้เหยียดไปทางปลายดินสอเพียงนิ้วเดียว ส่วนของแขนจะยกขึ้นไม่วางพักไว้บนโต๊ะ ใช้การเคลื่อนไหวของส่วนแขนทั้งหมดขณะเขียน

รูปทรงพื้นฐานในการเขียน: วาดเส้นแนวตั้งและแนวนอนเมื่อแสดงวิธีการให้ดู

อุปกรณ์การเขียนที่เหมาะสม: “ดินสอที่มีด้ามขนาดใหญ่” โดยอาจเป็นด้ามที่มีลักษณะแบบสามเหลี่ยมช่วยให้จับได้ถนัดมือมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในช่วงวัยนี้เด็ก ๆ จะมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อมือดียิ่งขึ้น แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพค่ะ ซึ่งการจับแบบนี้จะช่วยพัฒนาความมั่นคงของข้อมือ การควบคุมกล้ามเนื้อมือแบบแยกส่วน และการรับรู้สัมผัสแผ่วเบาของมือค่ะ

3. Static tripod grasp (3-4 ปี) การจับดินสอโดยใช้ 3 นิ้ว ใช้นิ้วหัวแม่มือร่วมกับนิ้วชี้และนิ้วกลางในการจับ ด้ามดินสอวางบนช่องว่างบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ โดยมีช่องว่างในการจับดินสอระหว่างโคนนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้แคบ ข้อมืออยู่ในลักษณะกระดกเล็กน้อย มือเป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหว ส่วนของปลายแขนวางบนโต๊ะ

รูปทรงพื้นฐานในการเขียน:

– วาดเส้นแนวตั้งและเส้นแนวนอนตามแบบ

– วาดเส้นกากบาทเมื่อแสดงวิธีการให้ดู

– วาดรูปวงกลมตามแบบ

– วาดรูปคนที่มี 3 ส่วน

อุปกรณ์การเขียนที่เหมาะสม: “ดินสอธรรมดา” เนื่องจากในช่วงวัยนี้เด็ก ๆ จะสามารถจับดินสอได้ดีขึ้น มีความมั่นคงมากขึ้นค่ะ ซึ่งการจับแบบนี้จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การหยิบจับในทิศทางแนวหมุน การควบคุมกล้ามเนื้อมือแบบแยกส่วน และการรับรู้สัมผัสแผ่วเบาของมือค่ะ

4. Dynamic tripod grasp (4-6 ปี) การจับดินสอโดยใช้ 3 นิ้ว นิ้วหัวแม่มืออยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับนิ้วชี้และนิ้วกลางเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม นิ้วกลางจะเป็นจุดรองรับ โดยที่นิ้วหัวแม่มือมีความมั่นคงค่ะ รวมถึงมีการเคลื่อนไหวของนิ้วทุกนิ้ว ข้อมือมีการเคลื่อนไหวในแนวตั้งและแนวนอน ส่วนของปลายแขนวางบนโต๊ะ

รูปทรงพื้นฐานในการเขียน:

4 ปี

– วาดเส้นกากบาทตามแบบ

– วาดรูปสี่เหลี่ยมตามแบบ

– วาดเส้นทแยงมุมซ้าย-ขวาตามแบบ

– วาดเครื่องหมายคูณตามแบบ

5 ปี

– วาดรูปสามเหลี่ยมตามแบบ

– วาดรูปคนที่มี 6 ส่วน

– เขียนชื่อตนเองได้

– เขียนตัวอักษรและตัวเลขได้บางตัว

อุปกรณ์การเขียนที่เหมาะสม: “ดินสอธรรมดา” เนื่องจากในช่วงวัยนี้เด็ก ๆ จะสามารถจับดินสอได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถควบคุมน้ำหนักมือได้ดีขึ้น การเขียนจะมีความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้นค่ะ ถือว่าเป็นการจับดินสอที่มีประสิทธิภาพที่สุด 

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้เด็ก ๆ ได้ใช้มือในการควบคุมสีหรือดินสอขีดเขียนเพื่อได้ได้รูปทรงต่าง ๆ ง่าย ๆ หากเด็ก ๆ สามารถทำได้ นอกจากจะเป็นพื้นฐานการเขียนในอนาคตแล้ว ยังเป็นการฝึกสหสัมพันธ์ของร่างกายอีกด้วยค่ะ รวมถึงเป็นการฝึกควบคุมมือและท่อนแขน ทำให้สามารถใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ

ก้านใบ คลินิกพัฒนาการเด็ก ลพบุรี
ให้บริการประเมิน ส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน
ส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน ทักษะEF
โทร 097-9378319 

Leave a comment